ประวัติโรงเรียน

        โรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก  ห่างจากอำเภอปรางค์กู่  11  กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษ  72  กิโลเมตร เริ่มแรกโรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก  เป็นสาขาโรงเรียนปรางค์กู่ เมื่อ พ.ศ. 2530  ซึ่งมี นายชัชวาล  สิทธิศร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนปรางค์กู่ นายสนอง คุณมาศ  ศึกษาธิการอำเภอปรางค์กู่  นายไพบูลย์  จันทา  ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านพอก  เจ้าอาวาสวัดบ้านพอก สภาตำบลกู่ รวมทั้ง คณะกรรมการการศึกษาบ้านพอก ได้ร่วมดำเนินการจัดหาที่ดินบริเวณป่าสงวนแห่งชาติฝั่งขวาห้วยทับทัน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 125  ไร่ เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ขอยืมสถานที่จากสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอปรางค์กู่ ขอใช้อาคารส่วนหนึ่งของโรงเรียนบ้านพอก จัดเป็นห้องเรียน ซึ่งในการจัดแผนการเรียน จะเน้นทางอาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ ประกาศสถาปนาโรงเรียน เมื่อวันที่  21 มกราคม พ.ศ.2531 มีพื้นที่ทั้งหมด 125  ไร่ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่  16  พฤษภาคม  พ.ศ.2531  มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  จำนวน  67  คน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  จำนวน  40  คน  กรมสามัญศึกษา  ได้จัดสรรงบประมาณ ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแบบมาตรฐานจำนวน 1 หลัง  บ้านพักครู 202/27  จำนวน 1  หลัง  บ้านพักภารโรงจำนวน 1  หลัง ห้องส้วมนักเรียน แบบ 6  ที่นั่ง  จำนวน 1 หลัง  สนามบาสเกตบอล จำนวน 1 สนาม และในวันที่  31  สิงหาคม  พ.ศ.2531  กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศ เปลี่ยนชื่อโรงเรียนพอกพิทยาคม เป็น โรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธี “รัชมังคลาภิเษก”  มี นายชัชวาล  สิทธิศร  เป็นผู้บริหารคนแรก มีครู-อาจารย์  จำนวน  1  คน  มาช่วยราชการ จำนวน  2  คน

พ.ศ.2532   กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ 108  ล  จำนวน 1 หลัง  บ้านพักครูจำนวน  1  หลัง ถังเก็บน้ำฝน ฝ.33    จำนวน  1  ชุด ขยายไฟฟ้าแรงสูง  และโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียน ค.อมต.สศ.

พ.ศ.2533  กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณสร้างห้องน้ำ ห้องส้วม นักเรียนแบบ   6 ที่นั่ง จำนวน  1  หลัง

พ.ศ.2534  ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม ( มพช.ส.) รุ่นที่  3

พ.ศ.2535  กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณสร้างโรงฝึกงานแบบ 102/27  จำนวน  1  หลัง  หอถังน้ำประปา และโรงเรียนได้ทำการเปิดโรงเรียนสาขา ตำบลตูม และโรงเรียนสาขา   ตำบลสวาย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 และทางโรงเรียนได้ทำการเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4

พ.ศ.2536  โรงเรียนเปิดรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่  4  เป็นปีที่สอง มีการก่อสร้างบ้านพักนักเรียนแบบ  35 คน  และบ้านพักครู

พ.ศ.2537  กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 216 ล  ( ปรับปรุง 29 )

พ.ศ.2538  โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานขนาดกลางดีเด่น และโรงเรียนได้ทำการเปิดรับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ( ปวช. ) ในปี พ.ศ.2339 กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง อาคารหอประชุม แบบ 100/27  และในวันที่ 21  มิถุนายน  พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต  เชิญอักษรปรมาภิไธย “ภปร” และพระมหาพิชัยมงกุฏเป็นเครื่องหมายของกลุ่มโรงเรียนรัชมังคลาภิเษก และในปี พ.ศ.2540  กระทรวงศึกษาได้อนุมัติให้โรงเรียนสาขาตำบลตูมเป็นโรงเรียนเอกเทศ และโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประมงโรงเรียนและชุมชนของระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบัน( ปี 2558) โรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก มีนักเรียน จำนวน  593  คน  มีครู-อาจารย์ ทั้งหมดจำนวน  26  คน  พนักงานราชการจำนวน  6  คน  ครูอัตราจ้าง จำนวน  3  คน  ครูธุรการ  1  คน  ช่างครุภัณฑ์  3  จำนวน  3  คน  นักการภารโรง จำนวน  1  คน  แม่บ้าน  จำนวน  1  คน  และมี นายสุทธิโรจน์   บุ้งทองธนรัตน์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพอกพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก